วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และสัมพันธ์กับโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมในอดีต

การก่อตั้งโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม

การศึกษาวิชากฎหมายในประเทศไทยแต่เดิมมานั้น ไม่มีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยกฎหมาย เป็นการศึกษาโดยการสั่งสอนสืบเนื่องต่อ ๆ กันมาจากผู้มีความรู้เชี่ยวชาญและสนใจในวิชาด้านนี้ และมิได้มีการศึกษากันแพร่หลาย มีความเชี่ยวชาญกันตามลักษณะหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ที่มาแห่งการศึกษาทางกฎหมายในสมัยนั้นคงมาจากพวกอาลักษณ์ลูกขุน ราชบัณฑิตและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในทางคดี และกฎหมายนั้นก็มีอยู่น้อยฉบับ มีสมบูรณ์แต่เพียงของหลวง 3 ฉบับเท่านั้น

ต่อมาเมื่อเสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ได้ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์จึงได้ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2540 แต่ก็ยังไม่ปรากฏฐานะในทางราชการอย่างใด เป็นแต่ได้มีประกาศแจ้งความกำหนดการสอบไล่แก่นักเรียนกฎหมายลงในราชกิจจานุเบกษา ของทางราชการเท่านั้น (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 14 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน ร.ศ. 116 หน้า 530) สถานที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมายในสมัยนั้นใช้ห้องเสวย ซึ่งอยู่ติดกับห้องเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นที่สอน กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ทรงสั่งสอนด้วยพระองค์เอง หลังจากเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ต่อมาเมื่อมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นจึงได้ขยับขยายไปที่ตึกสัสดีหลังกลาง

ครั้นเมื่อกรมหลวงราชบุรีฯ ทรงพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในปี 2453 แล้ว โรงเรียนกฎหมายก็ทรุดโทรมลง ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ที่มาดำรงตำแหน่งเสนาบดีแทนไม่ใช่เนติบัณฑิต หรือไม่ใช่อาจารย์ของเนติบัณฑิตนั่นเอง จึงเกิดความขัดข้องในเรื่องโรงเรียนกฎหมายขึ้น โรงเรียนกฎหมายของกรมหลวงราชบุรีฯ ต้องระเหเร่ร่อนไปอาศัยวัดมหาธาตุชั่วคราว แล้วย้ายไปที่เรือนไม้หลังเล็กๆ ระหว่างตึกศาลแพ่งกับตึกเก๋งจีน บัดนี้ได้รื้อไปไม่เห็นซากแล้ว เวลาสอบไล่ก็ไปอาศัยทำการสอบที่ระเบียงวัดพระแก้ว ต่อมาใน พ.ศ. 2454 (ร.ศ. 130) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทะนุบำรุงให้เป็นโรงเรียนหลวงสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม และให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ และได้ย้ายสถานที่มาตั้งอยู่ ณ ตึกกรมประชาสัมพันธ์เดิมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา

การรับโอนโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแผ่นดินแล้ว ได้มีคำแนะนำต่อรัฐบาลให้รวมการศึกษากฎหมายเข้าอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งยังไม่มีการสอนกฎหมายเพื่อให้ประกาศนียบัตรสำหรับวิชากฎหมายโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และให้โอนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมไปสมทบกับคณะนิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2476 เมื่อได้โอนโรงเรียนกฎหมายไปจากกระทรวงยุติธรรมแล้ว ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดให้โรงเรียนกฎหมายเป็นแผนกนิติศาสตร์ในคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ผู้ที่สำเร็จหลักสูตรวิชานิติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้นได้รับเพียงประกาศนียบัตร ถ้าต้องการจะเป็นเนติบัณฑิตก็ต้องไปสมัครเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาอีกชั้นหนึ่ง จึงจะเรียกว่า เนติบัณฑิตได้

การโอนโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นการโอนเพียงชั่วคราวไม่ถึงปี เนื่องจากในปีต่อมา (พ.ศ. 2476) ได้มีการตราพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ซึ่งสังกัดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาที่ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาวิทยาการอย่างกว้างขวางและนำความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ในครั้งนั้น ท่าน ดร. ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การ ในฐานะที่เป็นผู้ร่างโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนี้ขึ้น ทั้งนี้ โดยดัดแปลงอาคารเก่าซึ่งใช้เป็นที่เก็บอาวุธยุทธภัณฑ์ของกรมช่างแสงทหารบก ในบริเวณวังหน้าท่าพระจันทร์ ใช้เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยมาจนทุกวันนี้ มีการสร้างโดมคลุมหลังคาซึ่งเป็นตึกที่สูงเด่นแห่งหนึ่งของพระนครในเวลานั้น ตึกโดมซึ่งเป็นรูปปลายแหลมเหมือนกับปลายดินสอ นี้มีผู้แปลความหมายว่าเป็นสัญลักษณ์ของแม่โดม ที่ผลิตลูกออกมาเป็นชาวธรรมศาสตร์ ผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมประดุจปลายดินสอฉะนั้น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้เริ่มทำพิธีเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 วันนั้นพอดีเป็นวันตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราว จึงมีผู้กล่าวว่า ประชาธิปไตยของเมืองไทยได้เริ่มฝังรากอยู่ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นี้เอง ในวันพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ฤกษ์เวลา 15.00 น. ท่าน ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การได้กราบทูลรายงานการก่อตั้งมหาวิทยาลัยต่อเสด็จในกรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเสด็จมาเป็นประธานในพิธีท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติทั้งชาวไทย และต่างประเทศ มีข้อความดังนี้
“ขอพระราชทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

วันนี้เป็นวันมงคลดิถีบรรจบพร้อมกัน 2 ประการ ประการหนึ่ง วันที่ 27 มิถุนายนนี้ เป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราวแห่งพระราชอาณาจักรสยาม ประการที่สอง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้พยายามเร่งรัดการงานจนสามารถเปิดได้ในวันนี้ เพื่อดำเนินการสอนวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองตามพระราชบัญญัติที่ได้ประกาศตั้งมหาวิทยาลัยนี้ขึ้นให้ทันในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะของมหาวิทยาลัย ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมการศึกษาอันดี ตั้งแต่ชั้นต่ำตลอดจนถึงการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้น ในการที่จะอำนวยความประสงค์และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควารมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น ในปัจจุบันนี้ ประเทศสยามมีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ที่จะปรับระดับการศึกษาของราษฎรให้ถึงขนาดเหมาะแก่กาลสมัย ถ้าระดับการศึกษายังไม่เจริญถึงขนาดตราบใดความก้าวหน้าของประเทศ ก็ยังจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นอีกนาน ยิ่งในสมัยที่ประเทศของเราดำเนินการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมหาวิทยาลัยสำหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเมืองให้มากที่สุดที่จะเป็นได้ เปิดโอกาสให้แก่พลเมืองที่จะใช้เสรีภาพในการศึกษากว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติสืบต่อไป…” เมื่อผู้ประศาสน์การกล่าวรายงานเสร็จแล้วผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงกล่าวตอบมีความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าเห็นสอดคล้องต้องถ้อยคำที่ท่านกล่าวมาว่า สมัยนี้ประเทศของเราจะต้องเผยแพร่วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้แพร่หลาย เพื่อปวงชนจะได้รับทราบความเป็นไปในบ้านเมืองซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของ ข้าพเจ้าขอเปิดมหาวิทยาลัยนี้ ด้วยสัจจาธิษฐานขออำนาจพระรัตนตรัยจงได้คุ้มครองมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมทั้งอาจารย์และนักศึกษาทั้งหลายตลอดจนเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ขอให้มหาวิทยาลัยนี้มั่นคงถาวรยืนนาน บรรลุถึงความสำเร็จอย่างไพศาลสมบูรณ์ ขอให้นักศึกษามีความรุ่งเรืองสามารถจะกระทำกิจอันเป็นประโยชน์แก่ชาติและประเทศต่อไปข้างหน้าเทอญ”
นี่คือความหลังในวันพิธีเปิดมหาวิทยาลัยของพวกเรา และพวกเราได้ใช้เป็นที่ศึกษาตลอดมาจนทุกวันนี้

ธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.)

หลักสูตรปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในสมัยนั้น ไม่ได้แยกเป็นคณะต่าง ๆ อย่างสมัยนี้ สมัยนั้นมีแต่ธรรมศาสตร์บัณฑิต ซึ่งเรียกโดยย่อว่า ธ.บ. โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 6 ภาค ภาค 1 ถึง ภาค 4 เป็นการศึกษาวิชากฎหมายโดยเฉพาะซึ่งได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ กฎหมายอาญา วิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้าประนีประนอม การพนันและขันต่อ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า จัดการงานนอกสั่ง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบัญชีเดินสะพัด ตั๋วเงินประกันภัย กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทและสมาคม วิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายลักษณะพยานและจิตวิทยา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก กฎหมายลักษณะล้มละลาย

ส่วน ภาค 5 และภาค 6 นั้น ศึกษาวิชาเกี่ยวกับการเมือง คือ สิทธิเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ กฎหมายการคลัง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง คดีบุคคล คดีอาญา กฎหมายปกครอง และระเบียบวิธีปฏิบัติราชการของทบวงการเมือง

ส่วนการศึกษาในชั้นปริญญาโทนี้ได้แยกออกเป็น 4 สาขา คือ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และการทูต

อาจารย์ทวี กสิยพงศ์ ได้เขียนเล่าความหลังไว้ในจุลสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 17 เดือนมิถุนายน 2519 ว่า

“ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบกับท่านผู้ประศาสน์การ ได้เรียนถามท่านถึงความคิดที่วางหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตขึ้นในสมัยนั้นว่าท่านมีความประสงค์อย่างไร ท่านผู้ประศาสน์การได้กรุณาชี้แจงให้ฟังว่าหลักสูตร ธ.บ. ที่วางไว้นั้น ได้คำนึงถึงการที่จะให้นักศึกษาที่สำเร็จไปมีโอกาสประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวง โดยมิให้จำกัดอยู่เพียงวิชาทางกฎหมาย แต่อย่างเดียวเพราะว่าอาชีพนี้มีจำกัดอยู่เฉพาะผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้น ท่านต้องการให้จบปริญญา ธ.บ. สามารถเลือกอาชีพได้โดยกว้างโดยจะไปเป็นอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ เป็นนายตำรวจ สหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการคลัง การเศรษฐกิจ การทูต หรือจะรับราชการในกระทรวงได้เรียนระเบียบปฏิบัติราชการทุกกระทรวง รวมทั้งอยากจะไปทำการค้าก็ได้ เพราะเรียนรู้หลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ท่านบอกว่าท่านภูมิใจเหลือเกินที่ลูกศิษย์ลูกหาชาวธรรมศาสตร์ของท่านมีอยู่ในทุกสาขาอาชีพ แม้แต่ผู้ที่เรียนไม่จบปริญญา ก็ยังสามารถใช้ความรู้ทางวิชาดนตรีที่ร่ำเรียนเตรียมปริญญาเป็นหัวหน้าดนตรีได้ และการที่ท่านวางหลักสูตรให้นักศึกษาชั้นปริญญาตรีทุกคนได้วิชาเศรษฐศาสตร์ และลัทธิเศรษฐกิจด้วยนั้น ก็โดยมีเหตุผลว่ามนุษยชาติที่อยู่ร่วมกันในสังคมนั้นต้องมีเศรษฐกิจเป็นรากฐานนักกฎหมายต้องรู้หลักเศรษฐกิจด้วย เพื่อจะได้รู้ถึงพื้นฐานของสังคม กฎหมายที่ออกมาก็ต้องคำนึงถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสังคม เพราะฉะนั้นท่านจึงเห็นว่านักกฎหมายจะต้องเรียนรู้หลักเศรษฐศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย”

มหาวิทยาลัยได้แก้ไขปรับปรุงการศึกษาให้เหมาะสมกาลสมัยเรื่อย ๆ มา หลักสูตรที่เคยศึกษาเป็นภาคก็ได้เปลี่ยนแปลงโดยกำหนดหลักสูตรให้มีระยะเวลาการศึกษา 4 ปี ผู้สำเร็จหลักสูตร 4 ปี เรียกว่าธรรมศาสตร์บัณฑิต ในขณะที่ผู้ที่ศึกษาสอบได้ครบทุกวิชาปีที่ 1 - 3 ก็ได้รับอนุปริญญาลักษณะวิชาต่าง ๆ ที่ศึกษาในแต่ละปี ในขณะนั้น การสำเร็จการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิตต้องมีการสอบปากเปล่าด้วย โดยนักศึกษาที่สอบเขียนได้ครบทุกลักษณะวิชาในปีที่ 1-3 แล้ว ต้องเข้าสอบปากเปล่าในวิชากฎหมายทั้งหมดที่ได้ศึกษามาแล้ว เมื่อสอบปากเปล่าผ่าน (โดยได้คะแนนตั้งแต่ 50 ในร้อย) จะเข้าเรียนในปีที่ 4 ต่อไป
กำเนิดคณะนิติศาสตร์และนิติศาสตร์บัณฑิต

ต่อมาใน พุทธศักราช 2492 ได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กล่าวคือ ได้แบ่งแยกการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิตที่มีอยู่แต่เดิม มาเป็นการศึกษาแยกตามคณะ 4 คณะที่ได้จัดตั้งขึ้นมาใหม่ คือ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี อันเป็นที่มาของหลักสูตรปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ ซึ่งยังคงแบ่งเป็น 4 ปี จะเห็นได้ว่าการศึกษาวิชากฎหมายได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจนเป็นคณะนิติศาสตร์ ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน พุทธศักราช 2492 เมื่อได้มีชื่อใหม่ว่า “คณะนิติศาสตร์” การดำเนินงานทั้งด้านวิชาการ และธุรการก็ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมขึ้นอีก ที่สำคัญคือ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตร โดยเริ่มวิชาภาษาต่างประเทศและเน้นหนักไปในทางปฏิบัติให้เหมาะสมแก่การประกอบอาชีพในทางกฎหมายโดยเฉพาะ เมื่อศึกษาปีที่ 4 สำเร็จแล้ว จึงได้ปริญญาตรีเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต

สำหรับผู้ที่มีชื่อในทะเบียนก่อนสมัยการศึกษา พุทธศักราช 2492 คงมีสิทธิสอบไล่ตามหลักสูตรเดิม (ธรรมศาสตร์บัณฑิต) แต่อาจขอเปลี่ยนศึกษาตามหลักสูตรใหม่ของคณะหนึ่งคณะใดได้ โดยขอเทียบวิชาที่สอบไล่ได้แล้ว การศึกษาตามหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตเดิมได้เลิกไปเป็นการถาวรในปี พ.ศ. 2496
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2495 หลักสูตรปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ได้ปรับปรุงใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยยกเลิกบางวิชาและเพิ่มบางวิชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ก็มีการปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่ โดยมีวิชาเรียนดังนี้

ปีที่ 1
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป กฎหมายปกครองกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งประวัติศาสตร์กฎหมายกฎหมายอาญา ภาคต้นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บุคคลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ภาษาต่างประเทศ
ปีที่ 2
กฎหมายอาญา ภาคกลางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหนี้ละเมิดลาภมิควรได้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยประกันภัยบุคคล และทรัพย์กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยยืมฝากทรัพย์เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอม การพนันขันต่อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จากทำของ รับขนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัวกฎหมายที่ดินภาษาต่างประเทศ
ปีที่ 3
กฎหมายอาญา ภาคปลายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยบัญชีเดินสะพัด ตั๋วเงิน ประกันภัยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทสมาคมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า จัดการงานนอกสั่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยมรดกธรรมนูญศาลยุติธรรมกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายล้มละลายกฎหมายลักษณะพยาน และจิตวิทยาภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ หรือภาษาฝรั่งเศล)
ปีที่ 4
กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมืองกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปกฎหมายสารบัญญัติ (บางลักษณะ)

พระราชบัญญัติข้าราชการตุลาการ พระราชบัญญัติอัยการ พระราชบัญญัติทนายความ เหมืองแร่ ป่าไม้ การประมง สำหรับนักศึกษาหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตเดิมที่เรียนยังไม่สำเร็จในพุทธศักราช 2496 ก็ให้โอนมาเรียนหลักสูตรคณะนิติศาสตร์และสอบเก็บวิชาจนครบตามหลักสูตรใหม่ของคณะนิติศาสตร์ที่ได้ปรับปรุงใหม่ข้างต้น

ด้วยมหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์จะพัฒนาโครงการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาชั้นปริญญาตรีมีความรู้ภาษาต่างประเทศและความรู้ทั่วไปในด้านวิทยาศาสตร์ (Natural Sciences) สังคมศาสตร์ (Social Sciences) และมนุษยศาสตร์ (Humanities) ขึ้นอยู่ในระดับสูงเพียงพอที่จะเข้ารับการศึกษาในแขนงวิชาเฉพาะแต่ละด้าน ซึ่งแบ่งสอนอยู่ในคณะต่าง ๆ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2505 จึงได้มีข้อบังคับให้นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ต้องไปศึกษาวิชาปีที่ 1 ที่คณะศิลปศาสตร์ก่อน การที่นักศึกษาได้มีความรู้ทั่วไปในวิชาศิลปศาสตร์ดังกล่าว ก่อนที่จะเข้าศึกษาวิชาเฉพาะที่คณะนิติศาสตร์นั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา เพราะทำให้มีความรู้กว้างขวาง มีความเข้าใจธรรมชาติ และจิตใจมนุษย์เป็นพื้นฐานอย่างดี ในการศึกษาต่อไป

การเริ่มใช้ระบบหน่วยกิต

ในปี พ.ศ.2514 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ปรับปรุงหลักสูตรและข้อบังคับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนำระบบหน่วยกิตและการวัดผลแบบใหม่เข้ามาใช้ในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผลให้คณะนิติศาสตร์ได้กำหนดหลักสูตรและข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบของมหาวิทยาลัย ยกเว้นวิธีการวัดผลการศึกษาซึ่งยังใช้ระบบคะแนนดังเดิม
ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักสูตรก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นระยะเพื่อให้เนื้อหาของวิชาต่าง ๆ เหมาะสมกับกาลสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น ในสมัยที่ท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ ได้มีการเพิ่มวิชากฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป นิติปรัชญา หลักวิชาชีพนักกฎหมาย และกฎหมายแรงงานเข้าไว้ในหลักสูตรด้วย ส่วนวิชาซึ่งเคยศึกษาตั้งแต่เริ่มมีหลักสูตรนิติศาสตร์ ก็ได้ปรับปรุงให้มีเนื้อหาของวิชากว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความสมดุล ทั้งทางด้านวิชาการและการฝึกฝนอบรมวิชาชีพนักกฎหมาย

นิติศาสตร์ภาคบัณฑิต

ในปี พ.ศ.2515 คณะนิติศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรนิติศาสตร์สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากสาขาอื่นมาแล้ว เรียกว่า "หลักสูตรชั้นปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต" โดยเข้าศึกษาเฉพาะวิชาบังคับ ตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ปีที่ 3 และปีที่ 4 ของคณะนิติศาสตร์ ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนี้มีศักดิ์และสิทธิเป็น "นิติศาสตร์บัณฑิต" แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสมอกัน
การพัฒนาอาจารย์คณะนิติศาสตร์

คณะนิติศาสตร์ มีโครงการพัฒนาคณะให้ก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา คณะได้เริ่มสร้างอาจารย์ประจำ โดยการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามารับราชการเป็นอาจารย์ประจำ และได้จัดสรรทุนการศึกษาสำหรับส่งอาจารย์ไปศึกษาวิชานิติศาสตร์ในระดับสูงในต่างประเทศ ในระยะเริ่มต้นคณะได้รับการจัดสรรทุนธรรมศาสตร์และทุนจากสมาคมธรรมศาสตร์ ให้อาจารย์คณะนิติศาสตร์ เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกโดยมีวัตถุประสงค์ให้กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2522 คณะนิติศาสตร์ได้รับทุนการศึกษาจากแหล่งต่าง ๆ หลายแห่ง อาทิเช่น ทุน ก.พ. ทุนโอเซี่ยนนิคและสุวรรณมาศ ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส เป็นต้น ในปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์มีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศในหลายทวีป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน สหรัฐอเมริกา คานาดา และญี่ปุ่น
บัณฑิตศึกษา

โดยที่คณะนิติศาสตร์มีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเพียบพร้อมมากมายหลายด้าน คณะนิติศาสตร์จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท (นิติศาสตร์มหาบัณฑิต) ขึ้น และได้ปรับปรุงหลักสูตรนี้โดยตลอด การปรับปรุงครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ผลจากการปรับปรุงครั้งนี้ทำให้ในปัจจุบันหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิตมีสาขาถึง ๘ สาขา คือ สาขากฎหมายเอกชน สาขากฎหมายอาญา สาขากฎหมายมหาชน สาขากฎหมายระหว่างประเทศ สาขากฎหมายธุรกิจ สาขากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ สาขากฎหมายภาษี และสาขากฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนอกจากหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ยังมีหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชนและหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายธุรกิจอีกด้วย

สำหรับหลักสูตรปริญญาเอก (นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต) คณะนิติศาสตร์ก็ได้ดำเนินการมานานแล้ว และได้มีการปรับปรุงหลักสูตรในปี พ.ศ. 2539 ที่ผ่านมาคณะนิติศาสตร์ได้วางแผนงานพัฒนาทุก ๆ ด้านให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทางด้านบุคลากร อาคารสถานที่และหลักสูตร โดยคำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม และมีเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเป็นศูนย์กลางทางวิชากฎหมายอย่างแท้จริง